pin poramet 's book

Enjoy the world of bloggers !!!

10 October, 2005

ที่มาที่ไป

Blog นี้มีไว้สำหรับรวบรวม "คำนิยม" ที่เพื่อนๆ ชาว bloggers เขียนให้กับหนังสือ BLOG BLOG ของผม

ด้วยเหตุผลและความจำเป็นในกระบวนการจัดพิมพ์ เลยไม่สามารถนำ "คำนิยม" ทั้งหมด ลงตีพิมพ์ในหนังสือเล่มได้

ผมเลยนำ "คำนิยม" เหล่านั้น มาตีพิมพ์ไว้ในโลกไซเบอร์สเปซแห่งนี้แทน

ส่วน blog ของ ปิ่น ปรเมศวร์ และสมาชิกในชุมชน bloggers ท่านสามารถเข้าไปเยี่ยมเยียนเขียนอ่านได้ที่ http://pinporamet.blogspot.com

07 October, 2005

จาก B.F. Pinkerton

สิ่งที่เรียกว่าบล็อก (Blog) ย่อมาจากคำว่า เวปลอก (Web Log) ซึ่งแปลได้ว่าการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงบนเวป ในเรื่องใด ๆ ก็ตามที่ผู้เขียนหรือที่มีศัพท์เฉพาะว่าบล็อกเกอร์ (Blogger) สนใจ และสามารถกำเนิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน มีการขีดเขียนแลกเปลี่ยนความเห็น blog กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจล่าสุดในโลกอินเทอร์เน็ต ชนิดที่ว่าในรายการข่าว CNN หรือหนังสือพิมพ์รายวันจะมีช่วงเวลาหรือคอลัมน์แนะนำ blog ที่น่าสนใจทุกวัน

ในปัจจุบันชุมชนของ bloggers มีมากมายมหาศาล แทบจะในทุกเรื่องที่มนุษย์สามารถจินตนาการได้ bloggers มีตั้งแต่ระดับคนธรรมดาสามัญผู้รักการขีดเขียน อาจจะมีคนอ่านแค่ตนเองกับเพื่อนสนิทไม่กี่คน ไปจนถึงผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในวงการวิชาการระดับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยค่าตัวแสนแพง โปรเฟสเซอร์ผู้พิชิตรางวัลโนเบล CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แม้กระทั่งบุคคลในแวดวงบันเทิงฮอลลีวู้ดก็ยังทยอยกันมี blog ของตัวเองกันมากขึ้น bloggers เหล่านี้ หลายคนเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์มือทองระดับเขียนประจำในหนังสือพิมพ์อย่าง New York Times หรือ Business Week หรือเป็นคนผลิตตำราเรียนระดับ Best Seller ซึ่งการเขียนแต่ละบรรทัดของเขา สามารถสร้างรายได้อย่างงาม

แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีเงินทองอะไรจากการเขียน blog มันเป็นแค่เป็นความสุขใจและสะใจอย่างหนึ่ง กับการสามารถติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ความคิดของตนเอง ออกไปสู่โลกภายนอกได้อย่างรวดเร็วทันใจ พร้อมกับการได้อ่านข้อความที่มีคนแสดงความเห็นเข้ามา สำหรับสังคมออนไลน์ในประเทศที่ระบบอินเทอร์เน็ตโครงข่ายพื้นฐานแข็งแรง มีจำนวนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนสูง จำนวนของผู้อ่านต่อวันอาจจะสูงเป็นหลาย ๆ พันครั้ง

การได้เขียนหรืออ่านเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ความคิดเห็น ทัศนคติ บันทึกเหตุการณ์ที่ในชีวิต เหล่านี้ ในแง่มุมอิสระ จริงใจ ปราศจากการคัดสรรหรือเซนเซอร์จากบรรณาธิการหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ อาจจะนับได้ว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง…

เมื่อผมได้ทราบว่า คุณ ปิ่น ปรเมศวร์ อาจารย์หนุ่มนักเรียนนอกอนาคตไกล นักเขียนผู้มีความสามารถสูง ได้ริเริ่มการเขียน blog ของตัวเองขึ้นมา ผมก็รู้ว่าจะมีสิ่งดี ๆ สนุก ๆ เกิดขึ้นในโลกแห่งวรรณกรรมออนไลน์ของไทยอีกครั้ง เพราะตัวคุณปิ่นเองก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านงานเขียนมาอย่างช่ำชอง เคยมีทั้งผลงานเขียนของตัวเองและงานบรรณาธิการทำให้หนังสือขึ้นอันดับเป็นหนังสือขายดีหลายเล่ม และก็สมกับที่คาดการณ์เอาไว้ blog ของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าติดตาม พร้อมด้วยสาระมากมาย ที่สำคัญคือด้วยสายสัมพันธ์กับชุมชนวิชาการและปัญญาชนไทยรุ่นใหม่ของเจ้าของ blog ปิ่น ปรเมศวร์ได้สร้างชุมชนน้อย ๆ ของนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการรุ่นกระเตาะ ไปจนถึงรุ่นกลาง ตลอดทั้ง bloggers อื่น ๆ ที่มีข้อเขียนสนุก ๆ เท่ ๆ หลายท่าน หลายคนเขียนได้เก่งอย่างคิดไม่ถึงเลยทีเดียว

เมื่อคุณปิ่น ได้เปรย ๆ กับผมว่าสนใจจะตีพิมพ์ blog ต่าง ๆ เหล่านั้น ในรูปแบบหนังสือ ผมยอมรับว่ายังไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะน่าสนใจหรือเป็นการผิดที่ผิดทางหรือไม่ เพราะวรรณกรรมแบบออนไลน์ กับวรรณกรรมกระดาษ ยังมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ข้อเขียนที่อ่านสนุกในรูปแบบออนไลน์ อาจจะเป็นรูปแบบที่ไม่ลงตัวหากนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ด้วยความสามารถในการเป็นบรรณาธิการให้กับตัวเอง คุณปิ่น ปรเมศวร์ สามารถแปลงโฉมให้ blog ของเขากลายร่างมาเป็นหนังสือได้อย่างน่าอ่าน เหมาะสม และเป็นวรรณกรรมที่มีประโยชน์ อ่านสนุก

หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านในวงกว้างได้สัมผัสกับงานเขียนดี ๆ มีสาระบันเทิง จากหลายแง่มุม ทั้งในมุมของอาจารย์หนุ่ม นักศึกษาปริญญาเอก นักเศรษฐศาสตร์สำนักกระแสรอง ความยากลำบากและการต้องปรับตัวของชีวิตในต่างแดน การทำวิทยานิพนธ์ การเดินทาง แนวคิดเกี่ยวกับสังคมไทย และเรื่องอื่น ๆ

วรรณกรรมในรูปแบบมาตรฐานเช่นหนังสือทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงและรับรู้สาระความสนุกได้ในวงกว้างขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มนักอ่าน bloggers หรือผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตติดตามอ่านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยังจำกัดอยู่ในวงที่ไม่ใหญ่มากนักสำหรับเมืองไทย เป็นการน่าเสียดายถ้าหากสังคมนักอ่านหนังสือของเมืองไทยจะต้องพลาดงานเขียน แบบออนไลน์ ดี ๆ แต่ ณ บัดนี้ทุกสิ่งที่ได้บันทึกไว้ สามารถหาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว

ผมขอเชิญท่านผู้อ่านลองพลิก ๆ หนังสือเล่มนี้ดูก่อนจะซื้อครับ แล้วจะรู้ว่าที่ผมเขียนบรรยายมาข้างต้นนั้น มันไม่ได้เกินความจริงแต่อย่างใด

จาก Etat de driot

ผมเป็นคนมีเพื่อนฝูงมากพอควร การเริ่มต้นรู้จักคุ้นเคยจนนับได้ว่าเป็น “สหาย” ก็ต่างกันไปตามแต่ละคน ทว่ามี “สหาย” อยู่คนหนึ่งที่ผมคิดว่าวิธีการรู้จักระหว่างผมและเขานั้นจำเป็นต้องขอบคุณเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

ความเดิมเริ่มจากผมต้องเดินทางมาเรียนต่อ ณ ฝรั่งเศส ก็มีเจ้าคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตนี่แหละที่พอจะเป็นยาบรรเทาความเหงาของผมได้บ้างยามอยู่ไกลบ้าน ผมนั่งเฝ้าหน้าจออ่านนั่นอ่านนี่ไปเรื่อย จนกระทั่งวันหนึ่ง รุ่นน้องที่เมืองไทยส่งลิงค์มาให้ผมผ่านทางเอ็มเอสเอ็น เป็นเว็บไซต์รวบรวมบทความทางเศรษฐศาสตร์และสาขาอื่นๆไว้ เรียงเป็นหมวดหมู่ตามชื่อคนเขียน

ผมเลื่อนเจ้าหนู (เม้าส์นะ ไม่ใช่ไอ้นั่น) ลงมาเรื่อยๆ จนไปพบลิงค์รวบรวมเว็บไซต์ของอาจารย์ ไม่รู้บุญทำกรรมแต่งกันแต่ชาติปางไหนหรือเป็นเพราะสายลมแห่งโชคชะตาจะพัดพาให้ผมได้มาเจอกับเขา ผมกดไปที่ชื่อ “ปกป้อง จันวิทย์” เป็นคนแรก

ณ ห้วงเวลานั้น ผมย้อนกลับไปนึกถึงชื่อที่อาจารย์วรากรณ์ สามโกเศศเอ่ยถึงบ่อยครั้งในคอลัมน์ที่เขียนลงมติชน

ณ ห้วงเวลานั้น ผมย้อนกลับไปนึกถึงคอลัมน์ในกรุงเทพธุรกิจ และประชาชาติธุรกิจ

ณ ห้วงเวลานั้น ผมย้อนกลับไปนึกถึงแกนนำของคณะเศรษฐศาสตร์ที่ออกมาคัดค้านการซื้อหุ้นสโมสรลิเวอร์พูล

ณ ห้วงเวลานั้น ผมย้อนกลับไปนึกถึงนักวิชาการคนหนึ่งที่วิพากษ์ระบอบทักษิณอย่างเอาการเอางาน

เช่นกัน ณ ห้วงเวลานั้น ผมย้อนกลับไปนึกถึงเสียงแว่วๆลอยมาตามลมที่เอ่ยถึงกิตติศัพท์ของเขาที่ผมได้ฟังมาเมื่อครั้งผมยังอยู่เมืองไทย

แต่เป็นครั้งแรกที่ผมได้รู้จักประวัติของเขาแบบละเอียดจากเว็บไซต์ของเจ้าตัว

อึ้งครับ คนอะไรเก่งฉิบหาย

จากนั้นเป็นต้นมาผมก็ใส่เว็บไซต์นี้เข้าเป็น My favorites และคอยติดตามอย่างสม่ำเสมอ จนกระทั่งวันหนึ่งผมพบความเปลี่ยนแปลงบนหน้าโฮมเพจของเขา มีลิงค์แปลกๆอันนึงเขียนว่า Pin Poramet’s blog

ลองจิ้มเข้าไปดู พาลนึกในใจว่า ใครหนอ... ปิ่น ปรเมศวร์?

ตอนแรกคิดว่าสงสัยต้องเป็นประเภทไดอารี่ชวนฝัน พร่ำพรรณนาถึงความรัก หรือมีบทกลอนอันรัญจวนใจมาให้ผมอ่านเลี่ยนๆขณะดื่มไวน์เป็นแน่

เอาเข้าจริงมันตรงกันข้ามเลยครับ พี่แกเล่นของหนัก ๔๕ ดีกรีทุกวัน

อ่านไปเรื่อยๆ อ่านไปทุกวัน อย่านะครับอย่า อย่านึกว่าใช้นามว่าปิ่น ปรเมศวร์แล้วจะปกปิดรูปโฉมโนมพรรณตัวเองได้ ผมจำลีลาสะบัดปากกาของเขาที่ยังคมคงเส้นคงวาเหมือนเคย

ตั้งแต่นั้นผมก็มี Pin Poramet’s blog เข้ามาเป็นสมาชิกรายใหม่ของ My favorites ในคอมพิวเตอร์ผม

เชื่อหรือไม่ว่ากิจวัตรที่ผมต้องทำทุกวันหลังตื่นนอน คือ การเข้าไปอ่าน blog และเว็บไซต์ของเขา

ไม่น่าเชื่อว่าผมติดงานของเขางอมแงมทั้งๆที่เขาเป็นผู้ชาย (ฮา)

อ่านงานของเขามากเข้า ผมก็อยากมี blog เป็นของตนเอง จึงตัดสินใจเปิด blog บ้าง แล้วก็บุกเข้าไปโพสต์ใน blog ของเขาเพื่อแนะนำตัวผม

ตั้งแต่นั้นมาเราก็เริ่มรู้จักกันอย่างเป็นทางการ

ที่น่าแปลก จนกระทั่งขณะนี้ที่ผมนั่งเขียนคำนิยมให้กับเขาอยู่ ผมยังไม่เคยเจอเขาแบบตัวเป็นๆเลย

ผมถึงเชื่ออย่างสนิทใจว่าเทคโนโลยีทำให้มิตรภาพเกิดขึ้นและย่นย่อโลกของเราให้เล็กลง

.........

อย่างที่ผมเคยบอกกับสหายทางวิชาการของผมเสมอๆว่า นอกจากปิ่น ปรเมศวร์จะเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ไฟแรงแล้ว ผมว่าเขายังเป็นนักคิด นักเขียนคนสำคัญในบรรณพิภพอีกด้วย จะเป็นงานวิชาการแบบเปเปอร์ที่ไว้ขอตำแหน่งทางวิชาการ จะเป็นคอลัมน์หนังสือพิมพ์ หรือจะเป็นงานอ่านสบายๆในสไตล์บทบันทึกสั้นๆ ปิ่น ปรเมศวร์สามารถเขียนออกมาได้ดีในทุกแนว

ยิ่งไปกว่านั้น ไม่ว่าปิ่น ปรเมศวร์จะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม งานของเขามีพลังซ่อนอยู่ลึกๆและพร้อมที่จะจุดไฟให้กับผู้อ่าน ประจักษ์พยาน คือ blog ของผมที่เปิดขึ้นก็ด้วยอาศัยแรงบันดาลใจจาก blog ของเขา

ผมคาดเดาเอาเองทั้งๆที่ยังไม่เคยเจอตัวว่า ปิ่น ปรเมศวร์น่าจะเป็นคนจุดประกายให้แก่ผู้อื่นได้ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่คนรุ่นใหม่ด้วยกัน อาจกล่าวได้ว่าถ้าเขาไม่มาเป็นนักวิชาการในรั้วท่าพระจันทร์แล้ว เขาน่าจะไปเป็นนักจัดตั้งมวลชนชั้นดีทีเดียว

บทพิสูจน์หนึ่ง คือ blog อื่นๆที่ปิ่น ปรเมศวร์ทำลิงค์ไว้ ลองไปสำรวจเจ้าของ blog เหล่านั้นได้ ผมว่าเกินครึ่งน่าจะเปิด blog เพราะแรงกระตุ้นของเขา

คงไม่เป็นการยกยอกันเกินไปนัก หากจะกล่าวว่าปิ่น ปรเมศวร์เป็นคนสร้างชุมชน bloggers ของพวกเรา

ผมบ่นเสมอว่าวงการกฎหมายไม่ค่อยมีใครที่ลงมาเขียนงานแบบอ่านสบายๆแต่แฝงด้วยสาระ ทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่ากฎหมายเป็นเรื่องของคนหัวหมอ เรื่องของคนเล่นแร่แปรธาตุเอากับตัวอักษร จนเมื่อผมได้อ่านงานของปิ่น ปรเมศวร์เข้าก็เกิดแรงกระตุ้นให้ผมลุกขึ้นมาเขียนงานแนว Pop academics บ้าง

อีกประการหนึ่ง งานของปิ่น ปรเมศวร์ ทำให้ผมได้เปิดพรมแดนความรู้ใหม่ ได้พบกับความสวยงามทางวิชาการที่คนเห็นต่างกันก็อยู่ร่วมกันอย่างสันติได้ และพิสูจน์ว่าบางครั้งความขัดแย้งก็ทำให้เกิดภูมิปัญญาได้เช่นกัน

โดยส่วนตัว ผมทึ่งในความสามารถของปิ่น ปรเมศวร์ที่สามารถทำงานได้หลายประเภทในเวลาพร้อมๆกัน และงานที่ทำนั้นก็ออกมาดีด้วย

หมวกใบแรกของปิ่น ปรเมศวร์คือนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ สำนักท่าพระจันทร์ ในบทบาทนี้เขาทำได้ดีไม่มีที่ติ แม้ปิ่น ปรเมศวร์จะสมาทานกับเศรษฐศาสตร์กระแสรอง แต่เขาก็ไม่ได้ละเลยกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก หมวกอีกใบ คือ นักเขียน ผมพบว่าปิ่น ปรเมศวร์เขียนหนังสือได้คมคาย หาตัวจับยาก และน่าจะเป็นมือวางอันดับต้นๆในบรรณพิภพยุคนี้ หมวกใบที่สาม งานบรรณาธิการ ปิ่น ปรเมศวร์เป็นบรรณาธิการที่ขยันและเอาการเอางานเป็นอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าหนังสือเล่มที่เขารับเป็นบรรณาธิการนั้น คนเขียนจะต้องพบกับการกวดขันอย่างเอาจริงเอาจัง หมวกใบที่สี่ งานกระตุ้นเตือนสังคม เราจะพบข้อเขียนของเขาหลายชิ้นที่ร้องเตือนสังคมให้รับรู้ถึงอันตรายของระบอบทักษิณในยามที่นักวิชาการบางคนขลาดกลัวที่จะแสดงความเห็นออกมาดังๆ หมวกใบที่ห้า ปิ่น ปรเมศวร์เป็นนักศึกษาปริญญาเอกที่สหรัฐอเมริกา อีกไม่ถึงปีสำนักท่าพระจันทร์ก็จะได้ต้อนรับด็อกเตอร์หนุ่มกลับบ้าน

หมวกหลายใบที่เขาสวมใส่อยู่นี้ ปิ่น ปรเมศวร์ ทำได้อย่างครบถ้วน หมดจด และเอาจริงเอาจัง ยามใดที่ผมดูเขาแล้วย้อนกลับมาดูตนเอง ผมมักจะสงสัยเสมอว่า งานเขามากกว่าผมตั้งเยอะ ทำไมเขาทำได้ดี ในขณะที่ผมเอง งานแต่ละชิ้นกลับค่อยๆคลานไปอย่างเชื่องช้า

คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าผมจะบอกว่า ปิ่น ปรเมศวร์จัดเป็นมนุษย์พันธุ์พิเศษคนหนึ่ง

.........

เมื่อปิ่น ปรเมศวร์ติดต่อให้ผมเขียนคำนิยมให้แก่หนังสือที่รวม blog ในแต่ละตอนของเขา ผมตกปากรับคำเขาทันที แต่แล้วก็มานั่งวิตกว่า ผมจะเขียนคำนิยมออกมาได้ไม่ดีพอ มันเป็นการเขียนคำนิยมครั้งแรกในชีวิตของผม ประการหนึ่ง และเกรงว่าเนื้อหาในคำนิยมจะไม่แจ่มพอเมื่อเทียบกับงานของเขา อีกประการหนึ่ง

ผมใช้เวลาตรึกตรองอยู่นานว่าจะเขียนอะไรดี เดิมคิดว่าจะเขียนสั้นๆแบบคำนิยมทั่วๆไป แต่เมื่อนึกถึงเจ้าของผลงานแล้ว ผมจำต้องเปลี่ยนใจมาเขียนยาวและอาจเป็นคำนิยมที่ส่งมาให้ล่าช้าที่สุด

ผมก็เหมือนปิ่น ปรเมศวร์นั่นแหละ ยามใดจรดปากกาแล้วมักเพลินจนลืมดูหน้ากระดาษ

ไม่เพียงแค่การเขียนหนังสือยาวหลายหน้าเท่านั้นที่ผมเหมือนกับเขา หากเรายังมีรสนิยมที่สอดคล้องกันอีกหลายประการ

เขาและผมต่างพิสมัยการเมือง
เขาและผมต่างนิยมการเสพหนังสือเป็นภักษาหาร
เขาและผมต่างไม่พิสมัยระบอบทักษิณ
เขาและผมต่างชอบสาวผิวขาว
เขาและผมมักโดนเพศแม่รังแกหัวใจ
เขาและผมหลงมนต์เสน่ห์ของฟุตบอล แม้เราจะมีทีมรักต่างกัน
เขาและผมต่างชอบฟังเพลงของบอดี้สแลม

แต่ที่ต่างกัน คือ เขาก้าวไปไกล เร็ว และแรงกว่าผมยิ่งนัก

เชื่อผมเถิดว่าท่านผู้อ่านที่รักจะได้เสพอรรถรสกับงานของปิ่น ปรเมศวร์ ชนิดที่วางไม่ลงเหมือนกับที่ผมเป็นอยู่ และไม่จำเป็นต้องเดิมพันให้เสียเวลา ผมคิดว่าต้องมีผู้อ่านจำนวนหนึ่งไม่มากก็น้อยที่เกิดแรงบันดาลใจเมื่อได้อ่านหนังสือเล่มนี้

อย่างที่ผมย้ำเสมอ....

ไม่เพียงแต่ปิ่น ปรเมศวร์จะเป็นนักวิชาการที่ “เนื้อหา” แน่นแล้ว เขายังเป็นนักวิชาการที่ “จุดไฟ” ให้กับคนทั่วไปได้ดีอีกด้วย

จาก Corgiman

อีเมล์ฉบับหนึ่งที่ส่งมาถึงผมและผองเพื่อน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมานี้ เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งทุกอย่างที่เกี่ยวกับ blog สำหรับผม

ปิ่น ปรเมศวร์ ส่งอีเมล์มาถึงพวกเรา หลังจากที่เขาเดินทางกลับไปยังสำนักหลังเขาได้ไม่ถึงเดือน…

ในอีเมล์ฉบับนั้น ปิ่นเขียนเพียงสั้นๆ เชื้อเชิญพวกเราให้เข้าไปเยี่ยมชม “ของเล่นใหม่” พร้อมกับทิ้ง Link http://pinporamet.blogspot.com/ ไว้

หะแรกผมก็นึกว่า เป็นเว็บพรรค์นั้น …เลยหลงตามไปดู

ไม่น่าเชื่อว่า ความอยากรู้อยากเห็นในครั้งนั้น ได้เปิดโลกอีกซีกหนึ่งบนไซเบอร์สเปซให้กับผม …โลกของคนรักการเขียน และอยากแบ่งปันงานเขียนให้คนแปลกหน้าอ่าน

…ชุมชนของ bloggers

เมื่อแรกเริ่ม ที่ผมแวะเวียนไปอ่านบล็อกคุณปิ่น เครือข่าย bloggers ยังไม่กว้างขวางเพียงพอจะใช้ คำว่า “ชุมชน” ได้หรอกครับ เพราะ แถบทางด้านซ้ายมือของคุณปิ่น นั้นมีเพียงลิงค์ ที่นำพาไปหา blog ของคุณ B.F. และคุณปริเยศ เท่านั้น แต่มาวันนี้ คุณลองเข้าไปดูสิครับ รายชื่อของ bloggers ในลิงค์ของคุณปิ่นยาวเฟื้อย จนคุณปิ่นต้องออกแรงเขียนบรรยายถึงสรรพคุณของ bloggers แต่ละรายถึงสองรอบ

ผมก็เป็นหนึ่งใน blogger ที่ถูกดึงดูดด้วยผลงานคุณปิ่น คือแวะเวียนมาอ่านจนเกิดรู้สึกอยู่เฉยๆไม่ไหว ต้องมาขีดๆเขียนๆกับเขามั่ง

คุณปิ่น เขียนหนังสือดี ชวนอ่าน ใครได้ลองอ่านแล้ว ต้องแวะเวียนมาลิ้มลองงานเขียนใหม่ๆของคุณปิ่นอีกเรื่อยๆ ข้อเขียนใน blog คุณปิ่นไม่ใช่ไดอารี่ของเด็กวัยคิขุ แต่เป็นข้อคิดและมุมมองในแต่ละวันของบุรุษผู้มีความคิดและโลกทัศน์ที่ตกผลึกแล้ว มีทั้งสาระและบันเทิง หลากหลาย คละเคล้ากันไป

คุณปิ่นเขียน blog โดยไม่กลัวคนรู้ถึงธาตุแท้ตัวตนภายใน คุณปิ่นกล้าเปลือยความคิด ตีแผ่ให้คนแปลกหน้าได้รับรู้ ไม่ว่าจะเป็น ความพิสมัยในด้านมืดของพลังเยี่ยงเจไดหนุ่ม “อนาคิน” หรือความประทับใจที่มีต่อรุ่นน้องอนาคตไกลที่ชื่อ กระต่ายน้อยคนนั้น

แต่ที่ผมประทับใจในตัวคุณปิ่นมากที่สุด คือพลังในการดึงเอาความสามารถของผู้คนที่ผ่านไปมา ให้เข้ามาอยู่ในชุมชน bloggers โดยผ่านงานเขียนของคุณปิ่น … (จริงๆแล้วก็มีสองสามท่านที่คุณปิ่นใช้อำนาจด้านมืด บีบคั้นให้เปิด blog) พลังที่ดึงดูดและสร้างให้เกิด bloggers ใหม่ๆขึ้นนี้ แฝงตัวอยู่ในงานเขียนของคุณปิ่น ซึ่งผู้อ่านมากมายสัมผัสได้ในทุกๆงานเขียนของเขา

ผมยังจำได้ถึง comment ของ Etat De Droit ที่ มาโพสต์ชมผลงานคุณปิ่น และพรรณาว่า อยากเขียนให้ได้ดีอย่างคุณปิ่น …ไม่นาน ผมก็ได้ตามเข้าไปอ่าน บล็อกคุณ Etat De Droit และผมก็ทึ่งยิ่งกว่าทึ่ง เพราะคุณท่านเขียนได้สละสลวยชวนติดตามไม่แพ้คุณปิ่นเลย ทั้งๆที่เรื่องที่เขียนนั้นเป็นเรื่องที่ผมคิดมาตลอดว่า น่าจะวกวน เข้าใจยากเป็นที่สุด (คงเป็นเพราะเห็นพวกเนติบริกรในเมืองไทยประพฤติตัวในที่สาธารณะบ่อยๆกระมังครับ)

นอกจากคุณ Etat De Droit แล้วก็ยังมี คุณกระต่ายน้อย คุณ StrawHat คุณ Kickoman และอีกหลายๆคน …ที่ต่างล้วนเข้าข่ายจะถูกคุณปิ่นจัดชั้นให้เป็น “ช้างเผือก” ของวงการนักเขียน

เราคงไม่ได้อ่านผลงานยอดเยี่ยมเหล่านี้ หากคุณปิ่นมิได้เปิด blog แผ้วทาง ให้พวกเราเกิด “อารมณ์” อยากเขียน และอยากอ่าน ทั้งงานเขียน และคำวิจารณ์ของคนอื่นๆ จนทำให้วันนี้เรามีชุมชนนักเขียนบล็อกเกิดขึ้นได้ ชุมชนที่มีชีวิตชีวา มีความหลากหลาย และมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดสิ่งดีๆอีกมากมาย ทั้งในและนอกโลกไซเบอร์

ไม่น่าเชื่อว่าทั้งหมดนี้ มีจุดเริ่มต้นมาจาก อีเมล์ฉบับนั้นกับข้อความสั้นๆ ที่เชิญชวนให้แวะไปดู “ของเล่นใหม่” ของคุณปิ่น …แค่นั้นเอง

จาก StrawHat

ด้วยเหตุจำเป็นที่ทำให้ผมต้องไปใช้ชีวิตในวัยเรียนอีกครั้ง นอกบ้านเกิด วิถีชีวิตหลายๆอย่างของผมก็เปลี่ยนแปลงไป โดยหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือการใช้ชีวิตอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ต่ออินเทอร์เน็ต แทนที่การใช้ชีวิตบนพื้นผิวจราจรในมหานครแห่งแสงสี

วันหนึ่ง ปกป้อง จันวิทย์ เพื่อนสนิทร่วมวิชาชีพ ร่วมรุ่น ร่วมอุดมการณ์ แต่ต่างวิธีคิด แนะนำให้ผมรู้จักกับอีกชุมชนหนึ่งในโลกอินเทอร์เน็ตอันกว้างใหญ่ เป็นชุมชนที่มีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ชุมชนนั้นเป็นชุมชนของผู้คนที่เรียกตนเองว่า bloggers เป็นแหล่งรวมข้อเขียนที่มีความแตกต่างหลากหลายที่สุด แต่มีความเป็นตัวของตัวเองและมีชีวิตชีวาที่สุดแห่งหนึ่งเท่าที่ผมเคยสัมผัส โดย blogger แต่ละคนจะเป็นเจ้าของ blog ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นพื้นที่เล่าเรื่อง หรือพื้นที่แสดงความคิดเห็นส่วนตัวของเขา ใครแวะเวียนมาอ่านก็สามารถทิ้งความคิดความเห็นโต้ตอบกันได้

... และ blog แห่งหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยมของผมมากที่สุด และผมคิดว่าก็น่าจะเป็นที่นิยมของหลายคนในชุมชนแห่งนั้น ก็คือ blog ของ “ปิ่น ปรเมศวร์”

ด้วยความสนใจอันหลายหลาก “ปิ่น ปรเมศวร์” พาผู้คนในชุมชนไปพบกับเรื่องราว ความคิด ความเห็นที่แปลกใหม่ ไม่ค่อยเหมือนใคร และยากที่จะหาใครเหมือน

ผมได้รับรู้ถึงความคิดจิตใจของ Anakin, ได้รู้จักบุคคลเปี่ยมผู้ทรงอิทธิพลของโลกใน Time 100, ได้ผูกโยงเรื่องรอบตัวเข้าสู่วิธีคิดทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่เรื่องการทำแผนที่ ... หรือแม้กระทั่งได้ไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ Smithsonian อันโด่งดัง และรู้สึกดังว่าพิพิธภัณฑ์แห่งนั้นมีชีวิต

แน่นอนว่าเราจะหาคนที่มีความสนใจอันหลายหลาก และมีความคิดแปลกๆเช่นนี้ได้ไม่มากนัก และผมคิดว่าหลายคนก็คงจะรู้สึกแล้วว่า “ปิ่น ปรเมศวร์” และ “ปกป้อง จันวิทย์” เป็นสองชื่อที่ใช้เรียกขานบุคคลเดียวกัน

ถึงแม้จะเปิดตัวสู่บรรณพิภพด้วยหนังสือเล่มเล็ก แต่เนื้อหาหนักจนแทบยกไม่ขึ้น (ในช่วงก่อนนอน) อย่าง “คนไม่ใช่สัตว์เศรษฐกิจ” แต่กับงานรวมข้อเขียนใน blog ของ ปิ่น ปรเมศวร์ ดูจะมีรูปแบบการสื่อสารแสนสนุก ยกขึ้นอ่านสบาย ทุกที่ทุกเวลา ... ถึงแม้ว่าเนื้อหาในบางตอนจะยังคงความหนักแน่นอยู่เช่นเดิม

... และที่สำคัญงานชิ้นนี้ก็ยังคงสามารถสะท้อนความเป็น ปกป้อง จันวิทย์ ได้ชัดเจนเช่นเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง

จาก บุญชิต ฟักมี

ปัญหาของนักวิชาการส่วนใหญ่ในบ้านเรา คือการสื่อสารกับเพื่อนมนุษย์ไม่รู้เรื่อง พยายามยัดเยียดไอ้สิ่งที่โตใหญ่กว่าที่คนทั่วไปพึงรับได้จนเป็นเหตุให้อวัยวะที่ใช้คิดฉีกขาดและอักเสบ หรือไม่ก็ทำงานวิชาการในลักษณะตามใจตัว จนมีการเปรียบเปรยว่านักวิชาการเสมือนผู้อยู่บนหอคอยงาช้าง คอยสำเร็จความใคร่ทางวิชาการแล้วโยนทิชชู่ลงมาให้คนใต้หอคอยดูต่างหน้าไปวันๆ

เมื่อผมได้เจอปิ่น ปรเมศวร์ ผมพบว่า เขาไม่ใช่พวกนักวิชาการผู้นิยมข่มขืนสมอง หรือปากระดาษทิชชู่จากหอคอยดังกล่าว แต่กลับเป็นพวกที่เป็นธุระจัดหาให้ผู้อื่นสำเร็จความใคร่รู้ทางวิชาการและบันเทิงไปด้วยพร้อมกัน ด้วยลีลาที่เย้ายวนใจในการใช้นิ้วร่ายมนตร์สวาทลงบนปุ่มแป้นคีย์บอร์ด ลีลาการเขียนหนังสือของเขานั้นยั่วยวนชวนคิด และอาจกล่าวได้ว่า นอกจากน้องซิ่วแล้ว ก็มีแต่ปิ่น ปรเมศวร์ นี่แหละ ที่ทำให้ผมหันมาสนใจในวิชาศาสตร์แห่งทรัพย์นี้ได้

เชิญร่วมสำเร็จความใคร่รู้ และกิเลศรสทางปัญญาไปด้วยกันกับเราในลีลาอันแสนเร้าใจของเขาเถิด

จาก November Seabreeze

หากว่าคุณถูกถามด้วยคำถามเหล่านี้... นักวิชาการในฝัน และผู้นำที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างแผนที่โลกกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์? ภาพยนตร์สตาร์วอร์สให้ข้อคิดถึงการเมืองไทยอย่างไร?

คำถามเหล่านี้อาจจะไม่ใช่คำถามทั่วไปที่เราใส่ใจจะถาม อย่าว่าแต่จะหาคำตอบเลย แต่นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มแห่งสำนักท่าพระจันทร์ ผู้ใช้นามว่า ปิ่น ปรเมศวร์ มีอะไรบางอย่างจะคุยกับคุณ...

ผมยังจำได้ถึงวันที่ ปิ่น ปรเมศวร์ บอกผมว่าเขาตัดสินใจเขียน blog ของตัวเอง ตามประสาของคนชอบคิด และขีดเขียน ปิ่น ปรเมศวร์ ตั้งใจให้คอลัมน์ออนไลน์แห่งนี้ของเขาเป็นที่รวม “เรื่องราว” อันหลากหลาย และเป็นเวทีที่เขาจะใช้สื่อสารความคิดของเขาต่อ “เรื่องราว” ต่าง ๆ และใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในการสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขากับผู้อ่าน จากวันนั้นเป็นต้นมา bloggers กลุ่มหนึ่งได้สร้างสังคมเล็ก ๆ ที่มีพลวัตทางความคิด มีความสร้างสรรค์สูง และอยู่บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง จะว่าไปแล้วมันคือสังคมอุดมคติทางปัญญาเลยทีเดียว สังคมแห่งนี้กำลังขยายตัว และคงจะดีไม่น้อยถ้าหากมันได้ถูกแนะนำสู่โลกภายนอก โลกที่ความคิดสร้างสรรค์ถูกละเลย และความเห็นที่แตกต่างถูกเย้ยหยัน

ไม่ว่าผมจะเห็นด้วยกับความคิดเขาหรือไม่ก็ตาม ปิ่น ปรเมศวร์ มักจะให้มุมมองที่น่าสนใจ และลึกซึ้ง ชวนขบคิดแม้ในประเด็นทั่วไปที่เราอาจจะมองว่าผิวเผิน ผ่านลีลาการเล่าเรื่องที่เพลิดเพลิน หลายครั้งที่การสนทนาโต้ตอบระหว่างเขากับผู้อ่านช่วยสร้างมุมมองและมิติทางความคิดใหม่ ๆ ให้กับผม ผมพบว่าหากไม่นับเรื่องทีมฟุตบอลแมนยู ทีมสุดรักของเขา ความเห็น และมุมมองของ ปิ่น ปรเมศวร์ เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และรับฟังเสมอ

จาก มหาวิทยาลัยหลังเขา ถึง ท่าพระจันทร์, คาร์ล มาร์กซ์ ถึง อนาคิน สกายวอร์คเกอร์, ดาร์ท เวเดอร์ ถึง ทักษิณ ปิ่น ปรเมศวร์ ได้ถ่ายทอดประสบการณ์ มุมมอง และความคิดเห็นอันหลากหลายของเขาต่อผู้อ่านของเขา เขามีเรื่องบางเรื่องที่จะเล่าให้คุณฟังไม่ว่ารสนิยมของคุณจะเป็นเช่นไร บางครั้งคุณอาจจะคันมือคันไม้อยาก (เขียน) โต้ตอบกับเขา เขาก็พร้อมจะรับ (ฟัง) สิ่งที่คุณจะโต้ตอบกลับไป นอกจากนี้ความคิดเห็นของผู้ที่ได้อ่านต่อบทความนั้น ๆ ที่เขาเขียนก็ยังน่าสนใจไม่แพ้กัน

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นที่รวบรวมไว้ซึ่งแง่คิด วิวาทะ สาระ อสาระ และอาจจะรวมไปถึงการบ้านทางความคิด ซึ่งปิ่น ปรเมศวร์ และมวลมิตรของเขาในสังคมอุดมคติแห่งนี้ได้ร่วมกันผลิตขึ้นผ่านการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และคงเป็นที่หน้ายินดีไม่น้อยหากประเด็นเหล่านี้จุดประกายความคิดอะไรบางอย่างให้คุณ

หากว่าคุณถูกถามด้วยคำถามเหล่านี้... นักวิชาการในฝัน และผู้นำที่ดีควรจะเป็นอย่างไร? อะไรคือความสัมพันธ์ระหว่างแผนที่โลกกับทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์? ภาพยนตร์สตาร์วอร์สให้ข้อคิดถึงการเมืองไทยอย่างไร?

ลองพลิกดูนะครับ ปิ่น ปรเมศว์ และ มวลมิตร กำลังถกเถียงถึงคำตอบของพวกเขากันอยู่

อ้อ ! แล้วอย่าลืมโพสต์คำตอบคุณให้ผมอ่านด้วยล่ะ

จาก Ratioscripta

จริงๆแล้ววงโคจรของคุณปิ่นกับผมไม่น่าจะวิ่งมาทับกันง่ายๆ คุณปิ่นเป็นนักวิชาการดาวรุ่งอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยแถวท่าพระจันทร์ ส่วนผมรับราชการอยู่แถวซอยอารีย์สัมพันธ์

แม้เราจะเรียนในรั้วเดียวกัน แต่ก็ต่างคณะกัน คณะผมอยู่บริเวณประตูด้านติดสนามหลวง คณะคุณปิ่นอยู่บริเวณประตูด้านถนนพระอาทิตย์

และคุณปิ่นยังเข้าสำนักนี้ก่อนผมอย่างน้อยสองปีอีกต่างหาก

แถมตอนนี้ที่รู้จักกันผมอยู่บนดินแดนรูปขวานทองที่บริโภคข้าวและน้ำมันเป็นอาหารหลัก ในขณะที่คุณปิ่นฝึกวิชาอยู่ดินแดนเจ้าโลกที่ฝักใฝ่เสรีภาพบนปลายกระบอกปืนเหนือสิ่งอื่นใด

แต่ด้วยมายากลแห่งโลกไซเบอร์ และนวัตกรรมที่เรียกว่าเว็บบล็อก ชักจูงให้เราทั้งสองข้ามมิติแห่งดินแดนและเวลามาเจอกัน (น้ำเน่ามาก)

แม้ผมจะไม่เคยพบพานเห็นหน้าค่าตาของคุณปิ่น (ซึ่งประกาศตนมาตลอดว่ามีพื้นที่ไร้ผมบริเวณศีรษะมากสักหน่อย) แต่จากการอ่านงานเขียนของคุณปิ่นแล้ว ...

ผมรู้สึกว่าคุณปิ่น “หล่อ” มากครับ

ไม่ได้หล่อแบบหรู หยิ่ง จับต้องไม่ได้แนวนักวิชาการบนหอคอยงาช้าง แต่หล่อติดดิน แบบสัมผัสได้ แถมมีเสน่ห์ ด้วยมุมมองและการเรียกรอยยิ้มมุมปากยามเห็นหน้าคุณปิ่นผ่านตัวหนังสืออีกต่างหาก

ท่านผู้อ่านที่ถือหนังสือเล่มนี้อยู่ในมือครับ

เชิญท่านพบกับหนุ่มรูปหล่อคนนี้ ผ่านตัวหนังสือของเขาได้ ณ บัดนี้ครับ

อ่านเถิดครับ แล้วจะรู้ว่า เขา “หล่อ” แค่ไหน

จาก Grappa

เมื่อแรกที่รู้ว่า ปิ่น ปรเมศวร์ เขียน blog ก็ดีใจนักหนา เพราะคราวนี้เราก็จะมีเพื่อนบ้านชาว blog เป็นนักวิชาการเพิ่มขึ้นอีกคน ดิฉันมีชาว blog เพื่อนบ้านที่หลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน นักศึกษา นักวิจารณ์หนังมือสมัครเล่น นักเขียน นักแปล สาวออฟฟิศ หนุ่มนักอ่านการ์ตูน แต่เมื่อได้เพิ่มเติมลิงค์ ปิ่น ปรเมศวร์ เข้าไปในลิงค์เพื่อนบ้านชาว blog ก็อุ่นใจว่าในยามที่เราอยากอ่านอะไรที่ประเทืองปัญญา คราวนี้มีทางเลือกเพิ่มขึ้นแล้ว

เมื่อตามอ่านงานของเขาไปเรื่อยๆ ดิฉันกลับดีใจขึ้นไปอีกที่พบว่า ว่าที่ด็อกเตอร์หนุ่มอนาคตไกลคนนี้ไม่ได้นั่งอยู่บนหอคอยงาช้าง เพราะเขาไม่ได้บอกเราแต่เพียงเรื่องราวทฤษฎีอันแห้งแล้ง หรือการถกเถียงกันทางปัญญาที่ปราศจากอารมณ์ขัน แต่กลับทำให้เรารู้เรื่องราวอันหลากหลายที่กำลังรายล้อมตัวเขา สิ่งที่เขาเป็นห่วงนั้นมีตั้งแต่เรื่องราวของคนเล็กๆ อย่างนักการเก่าแก่ของมหาวิทยาลัย แขกขายถั่ว ดารา ไปจนกระทั่งถึงเจ้าพ่อทฤษฎีนักแก้ปัญหาสังคมทั้งของไทยและต่างแดน ยิ่งอ่าน blog ของเขาไปเรื่อยๆ มันยิ่งตอกย้ำกับดิฉันว่า “คนเก่ง” และ “คนดี” (และมีอารมณ์ขัน) นั้นอยู่ในตัวคนเดียวได้

นักวิชาการในฝันที่เราตามหานั้นมีอยู่จริงในตัว ปิ่น ปรเมศวร์ นี่เอง

จาก ยอดมนุษย์หญิง

เมื่อประมาณสองสามเดือนก่อน เพื่อนของเราคนหนึ่งให้ที่อยู่ blog ของคุณปิ่น ปรเมศวร์มา โดยเพื่อนบอกว่า ‘เข้าไปอ่านสิ blog นี้น่าสนใจ’ เราก็เลยคลิ้กเข้าไป สารภาพว่าในตอนนั้นไม่ได้ตั้งใจจะเข้าไปอ่าน แต่จะเข้าไปทักทายตามประสาคนรู้จัก เคยพบปะพูดคุยกัน

แต่เมื่อทักทายเสร็จ, สายตาผ่านไปอ่านบางบรรทัดในบล็อกนี้อย่างไม่ได้ตั้งใจ และจากนั้นเราก็ละสายตาออกมาไม่ได้

ต้องอ่านทั้งหมด

ยอมรับว่าแนวคิดสวนกระแส ชวนขบคิดของคุณปิ่นดึงเราเอาไว้ได้จริงๆ หรือไม่ก็อาจจะเป็นเพราะตัวเราเองก็เป็นพวกสวนกระแสเช่นกัน ก็เลยทำให้หลายๆความคิดใน blog ของคุณปิ่น เป็นความคิดที่น่าสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง เช่น ความคิดที่ว่าวิถีชีวิตและตัวตนจริงๆของคนมีค่ามากกว่าความเป็นระเบียบสวยงามแต่ไร้ชีวิตของบ้านเมือง, หรือ การสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยสำคัญกว่าการสร้างประชาธิปไตยเพียงแค่ในระบบการเมืองเท่านั้น นอกจากนี้ หลายๆครั้งคุณปิ่นยังแฝงปรัชญาไว้ในข้อเขียน เช่น เรื่องของความเป็นสากลที่อาจไม่มีอยู่จริง และเรื่องของการสร้างตัวตนของคนเราที่น่าจะมาจากปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งปรัชญาเหล่านี้ในความคิดของเราเป็นสิ่งที่อธิบายยากแต่คุณปิ่นก็เอามาเขียนให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่ง

เท่านั้นยังไม่พอ blog ของเพื่อนๆ (หรือที่คุณปิ่นเรียกพวกเขาว่า ชุมชน bloggers) ที่เขียนไว้ใน blog คุณปิ่นก็คุณภาพดีไม่แพ้กัน เช่น blog ของคุณ B.F. Pinkerton, คุณ Ratio Scripta ก็เขียนได้ดีมาก ทำให้เราต้องหลงวนเวียนอยู่ในชุมชน bloggers นี้เป็นประจำ จนกลายเป็นแฟนประจำก็ว่าได้

แน่นอนว่า blog มิได้สะท้อนตัวตนทั้งหมดของคุณปิ่น มิได้อธิบายสรรพคุณทั้งหลายทั้งปวงของคุณปิ่น มิได้บอกว่าทำไมคุณปิ่นจึงเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ (แต่หน้าเก่า) ที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่งในยุคนี้ blog เป็นเพียงแง่มุมหนึ่งของเขาเท่านั้น แต่จะเป็นแง่มุมไหน คงต้องไปค้นหากันเอาเอง

สำหรับเรา ถ้าถามว่า blog นี้ทำให้เรารู้จักคุณปิ่นมากขึ้นแค่ไหน ตอบว่ามันทำให้เราได้รู้ชัดๆอยู่ข้อ หนึ่ง นั่นคือ คุณปิ่นเป็นคนที่มีขนาดใจที่ใหญ่เพียงใด

ขนาดใจของเขาแสดงออกมาให้เห็นจากแนวคิดที่เขาเขียนย้ำไว้หลายครั้งว่า ‘ขันติต่อความต่างเป็นพื้นฐานสำคัญ’

ซึ่งขนาดใจที่ว่านี้เป็นสิ่งที่เราชื่นชมและเป็นสิ่งที่เราภาวนาขอให้ได้เห็นเช่นเดียวกันนี้ในสังคมไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวผู้นำหลายๆท่าน

โดยรวมแล้ว blog นี้ หรือหนังสือเล่มนี้ นอกจากจะอธิบายตัวตนแง่มุมหนึ่งของคุณปิ่นแล้ว ยังแฝงไว้ด้วยความคิดเห็น และปรัชญาที่น่าสนใจ ที่ผู้อ่านน่าจะนำไปคิดต่อได้อีกมากมายทีเดียว

จาก Kickoman

ผมรู้จักคุณปิ่น ปรเมศวร์ เป็นการส่วนตัวมาหลายปีแล้ว ยังจำได้ว่าตอนสมัย ’บอลโลกปี 94 คุณปิ่นฯ จัดรายการวิทยุ Nation Junior สุดสัปดาห์ ผมยังโทรไปร่วมรายการอยู่เลย นั่นเป็นการเล่นเกมทางวิทยุครั้งแรก และครั้งเดียวในชีวิตผม แล้วผมก็ได้รางวัลซะด้วย แต่จากวันนั้น ถึงวันนี้ ก็สิบกว่าปีแล้ว ผมยังไม่ได้ของรางวัลเลยครับ

....จริงๆแล้ว ผมไม่ได้แค้นหรอกครับ แต่ผมจำแม่น เอาเถอะ เรื่องมันแล้วไปแล้ว เอาเรื่องตอนนี้ดีกว่า

คุณปิ่นฯ ขอให้ผมเขียน “คำนิยม” หนังสือเล่มใหม่ให้ ผมไม่มั่นใจเลยว่าผมจะเขียนได้ยังไง แบบว่าผมไม่เคยครับ

ยังไงก็ตาม ผมยังไม่เห็นหนังสือ เลยไม่รู้จะนิยมหนังสือยังไง เพียงแต่รู้ว่าเป็นหนังสือรวม blog ของคุณปิ่น ปรเมศวร์ เอาเป็นว่าขอนิยมคุณปิ่นฯ ก่อนละกัน

ก่อนเข้าสู่วงการ blog คุณปิ่นฯ เป็นนักคิด นักเขียน นักวิจารณ์ ฝีปากร้าย ฝีมือเยี่ยม อุดมการณ์ยอด เรียกว่า ครบเครื่องว่างั้นเหอะ หลายๆคนคงพอได้ผ่านหูผ่านตาผลงานคุณปิ่นฯมาแล้วบ้าง

พอเข้าสู่วงการสื่ออิเล็กโทรนิค คุณปิ่นก็สั่นสะเทือนวงการ blog ด้วยการเขียนคอลัมน์ออนไลน์ ให้ชาวอินเตอร์เน็ทอ่านฟรีๆ ก็เป็นที่นิยม เรียกว่า แฟนานุแฟนติดกันงอมแงม

เท่านั้นไม่พอ คุณปิ่นยัง เชื้อเชิญ ชักชวน ชักจูง ข่มขู่ คุกคาม เพื่อนๆอีกหลายคนเข้าวงการ blog ไปด้วย เรียกว่า คุณปิ่นฯมีส่วนจุดประกายวิญญาณนักเขียนของหลายๆคนให้พุ่งพล่าน และช่วยกันสร้างชุมชนเล็กๆบนสังคมอินเตอร์เน็ทอันกว้างใหญ่ ให้เป็นชุมชนที่เต็มไปด้วยพลังและอิสระในการสร้างสรรค์ ทั้งสาระ และความบันเทิง

ผมก็หลงกลไปกะเขาด้วย แม้ว่าจะเขียนสู้คนอื่นไม่ได้ แต่ก็ถือว่าได้มีโอกาสฝึกเขียนกะเขาด้วยคน

คุณปิ่นฯ รวมเล่มผลงาน blog ครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีสำหรับผู้อ่าน ที่ชื่นชมสไตล์การเขียนอันเป็นเอกลักษณ์ของคุณปิ่นฯ (ที่ดันไปคล้ายกับ คุณปกป้อง จันวิทย์) ที่จะได้อ่านบทความดีๆสนุกๆ เผื่อจะได้เป็นแรงบันดาลใจ เอาไปเปิด blog เป็นของตัวเอง แล้วรวมเล่มขายแบบคุณปิ่นฯ เขาบ้าง

โปรดใช้วิจารณญาณในการเสพสื่อบนอินเทอร์เน็ตนะครับ

จาก Pol@USA

blog ของคุณปิ่นมีเนื้อหาหลากหลาย หลายเรื่องเป็นความรู้ใหม่ในชีวิตของผม ไม่ว่าเรื่องแผนที่โลก หรือเรื่องพิพิธภัณฑ์ ฯลฯ ผมอ่านด้วยความทึ่งในความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวของคุณปิ่นมาเป็นตัวหนังสือ เพราะหลายครั้งเหมือนกับนำพาผมเข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้นจริง ๆ ณ เวลานั้นด้วย

เป็นโชคดีของคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่ได้บุคลากรซึ่งเปี่ยมไปด้วยความรู้ความสามารถอย่างคุณปิ่นไปสืบทอดเจตนารมณ์และอุดมการณ์ของท่านอาจารย์ป๋วย ผมขออนุญาตฝากความหวังไว้ว่า คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ จะสร้างนักเศรษฐศาสตร์ที่มีคุณธรรม จริยธรรม ทรงความรู้ มีความกล้าหาญที่จะต่อสู้กับความไม่ถูกต้อง ไม่หวังแต่เพียงผลประโยชน์ และมองโลกแคบในด้านเดียว ไม่คำนึงถึงโลกแห่งความจริงที่ต้องจะต้องปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ใช่วาดฝันอยู่บนหอคอยงาช้างเท่านั้น

ผมยอมรับว่า เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และเริ่มเรียนต่อปริญญาโทที่คณะรัฐศาสตร์ และคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมเคยคิดว่าตนเองมีความรู้ความสามารถมากมาย แต่เมื่อยิ่งเรียนมากขึ้น กระทั่งถึงปัจจุบัน ผมกลับคิดว่า ตัวเองมีความรู้น้อยเกินกว่าจะทำการใหญ่ได้ ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมากมาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อได้อ่านบทความใน blog ของเพื่อน ๆ แล้ว ยิ่งประจักษ์ว่ามีเรื่องราวต่าง ๆ อีกมากมายที่ผมยังต้องเรียนรู้ แม้ผมจะไม่เห็นด้วยกับคุณปิ่นในหลายประเด็น แต่การที่ได้อ่านเรื่องราวที่แตกต่างจากแนวคิดของตนเอง ก็ช่วยให้ผมได้เปิดโลกทัศน์ และได้แนวคิดใหม่กลับไปคิดต่อมากมาย

จาก นิพพาน

“ลองเขียนดูสิ”

นั่นคือคำพูดที่ปิ่นพยายามชักชวนให้ผมลองสร้างเเละเขียน blog ของตัวเอง

ก่อนหน้านั้นผมเคยเข้าไปอ่าน blog ของปิ่นมาเเล้ว คิดว่าน่าสนใจดี เเต่ก็ไม่ได้รู้สึกพิเศษ ยังแอบคิดในใจว่า ทำไมเหล่า bloggers ถึงอยากให้คนทั่วโลกรับรู้ว่าเขาคิดอะไร หรือทำอะไร กระทั่งผมหลงกลปิ่นมาเปิด blog ของตัวเอง เลยเข้าใจเพราะอยากเขียนความคิดของตัวเองออกมาให้คนอื่นรับรู้มากมายหลายเรื่องเหลือเกิน

ปิ่นรู้จักผมเมื่อไม่นานมานี้ เเต่ผมรู้จักปิ่นมานานหลายปี เรียกง่ายๆ ว่าผมรู้จักเขาข้างเดียว ในฐานะอดีตพิธีกรรายการเด็กที่พูดเก่ง เมื่อเราได้รู้จักกันเป็นการส่วนตัว ผมได้รู้ว่า คนคนนี้ไม่ได้มีดีเเต่พูด เเต่ยังเขียนเก่งอีกด้วย

ปิ่นเป็นคนอ่านมาก ฟังมาก เที่ยวมาก มีเพื่อนมาก เขาเลยเป็นคนรู้มาก สิ่งหนึ่งที่ผมประทับใจในตัวเขาคือ การเป็นคนรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น ผมคิดว่าจริงๆ เเล้วปิ่นเป็นคนมองโลกต่างจากคนอื่นอยู่มาก เเต่ความเเตกต่างนั้นไม่ได้นำไปสู่ความเเตกเเยก

เมื่อเราเปิดใจให้กว้าง เราจะพบว่าบางสิ่งบางอย่างที่เราคิดเราเจอ หากลองมองจากมุมต่างจากที่เคย อาจทำให้เราได้คิดมุมใหม่ การลิ้มลองอ่านความคิดของ ‘ปิ่น ปรเมศวร์’ อาจทำให้คุณได้มองโลกมุมใหม่ ได้เห็นสิ่งสวยงาม ความแปลกประหลาด กระทั่งความน่ากลัว ของเรื่องราวที่เราเคยคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต

จาก กระต่ายน้อย

คุณปิ่น ปรเมศวร์ นับเป็นนักวิชาการดาวรุ่งที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดคนหนึ่งของวงวิชาการเศรษฐศาสตร์ไทยในปัจจุบัน ซึ่งทำให้คนส่วนใหญ่มักจะรู้จักเขาในฐานะนักวิชาการ(ขาประจำ) ผู้พยายามผลักดันสังคมไทยให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม นอกจากคนที่รู้จักเขาใกล้ชิดแล้ว น้อยคนนักจะมีโอกาสได้รู้จักกับพื้นฐานทางความคิดที่ทำให้คุณปิ่นกลายเป็นคุณปิ่นเช่นนี้

ต้องขอบคุณความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ที่ทำให้คุณปิ่นสามารถมี blog เป็นของตัวเอง คอยเขียนเล่าความคิดอ่านของเขาให้คนอื่นได้ฟัง ข้อเขียนของคุณปิ่นที่อยู่ในบล็อกนั้น โดยส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนคิดว่ามีความสนุกสนานและน่าสนใจ รวมถึงบ่งบอกถึงตัวตนของคุณปิ่นได้มากกว่าข้อเขียนทางวิชาการของเขาด้วยซ้ำ

หลายคนที่ไม่เคยได้พบตัวจริงของคุณปิ่น คงจะสามารถจินตนาการถึงความเป็นตัวเขาได้มากขึ้น และอีกหลายคนที่เคยติดตามงานของคุณปิ่นมาก่อน ก็จะได้เห็นตัวตนอีกด้านของเขา ในฐานะนักเรียนรู้ ที่ชอบแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอข้อคิดที่ประเทืองปัญญาให้กับคนอื่นๆ

การได้อ่านข้อเขียนของคุณปิ่นใน blog ก็เหมือนกับการได้พูดคุยกับเขาในเรื่องสัพเพเหระ ที่ไม่ต้องปีนบันไดอ่านก็รู้เรื่องได้ นับเป็นการได้รู้จักกับความคิดในเรื่องทั่วไปของเขา ที่รับรองได้เลยว่าจะทำให้ผู้อ่านทั่วไปได้แง่คิดดีๆติดตัวไปมากมาย

ขอให้ทุกคนติดตามตัวตนทางความคิดของคุณปิ่นให้สนุกสนานนะครับ ไม่แน่วันหนึ่งคุณอาจจะได้กลายมาเป็นหนึ่งในชุมชน bloggers ของคุณปิ่น คอยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเขาโดยตรงอย่างผมก็ได้

จาก David Ginola

อ่าน blog ของอาจารย์ปิ่นแล้ว ปิดคอมพ์ไม่ลงเลยจริงๆ

เนื้อหาเข้ม... ความคิดคม... มุมมองเฉียบ... แถมมีลูกเล่นลูกฮาเป็นระยะๆ ทำให้อ่านได้ไหลลื่นมาก

ถ้าคุณยังไม่รู้จักปิ่น ปรเมศวร์ ผมแนะนำให้รีบอ่านหนังสือเล่มนี้โดยเร็วพลัน

สุดยอดจริงๆครับ

จาก Steelers

ผมรู้จักอาจารย์ปกป้องมานาน

สิ่งหนึ่งในตัวอาจารย์ที่ไม่เคยเปลี่ยนเลยคือ ความสามารถในการถักทอความคิด ความห่วงใยของอาจารย์ต่อสังคมมนุษย์อันซับซ้อนออกมาเป็นภาษาที่เรียบง่าย อ่านสนุก

บทความของอาจารย์นอกจากจะเต็มไปด้วยสาระที่อัดแน่นเต็มเปี่ยมที่มีลักษณะเป็นสหวิชาครอบคลุมวิชาสังคมศาสตร์ทั้งหมดแล้ว ยังมีมุขขำขัน ที่ชวนหัวเราะได้ไม่รู้เบื่อ

นับเป็นบทความกึ่งวิชาการทางสังคมศาสตร์ที่ออกมาเป็นอาหารสมองของคนที่กระหายที่ใครรู้ความเป็นไปของสังคมได้เป็นอย่างดี

จาก อาทิตย์ ประสาทกุล

คราได้ที่ก้าวเข้าสู่โลกไซเบอร์สเปซ ผมจะแวะเวียนไปเคาะประตูทักทาย blog ของคุณปิ่น ปรเมศวร์ ทุกครั้ง มิเคยขาด

คุณปิ่นฯ เปิดประตูต้อนรับด้วยอาหารสมองอร่อยๆ ที่เป็นข้อเขียนในประเด็นหลากหลาย ชวนให้คิดลึก และมองกว้างไกล ไม่ว่าจะเป็นประเด็นทางการเมืองไทยและเทศ เรื่องราวจากการเดินทางท่องเที่ยว รวมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่เขาได้ประสบพบระหว่างช่วงชีวิตสุดท้ายของการเป็นนักเรียนนอกของเขา

จิตเบื้องลึกของคุณปิ่นฯ คงจะติดต่อรู้ใจผู้อ่านได้ดียิ่งว่ากำลังตั้งหน้าตั้งตาติดตามอยู่หน้าจอเครื่องสมองกล เมื่อเขาเดินนั่งกินนอนในครั้งใด ก็จะนำเรื่องนั้นๆ มาเล่าให้ฟังอย่างร่าเริง มีประเด็นคมลึก อีกทั้งยียวนชวนให้คิดลึกๆ และนานๆ

เรื่องประชาธิปไตยริมทาง แผนที่โลกแผ่นแท้ และเรื่องแผ่นเหล็กแผ่นนั้น เป็นเรื่องที่ประทับใจที่สุด เพราะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่หลายคนมักมองข้ามไม่สนใจ แต่คุณปิ่นก็นำมาเล่าให้ฟังได้อย่างครื้นเครง

นอกจากจะมีอาหารอร่อยๆ ให้กินยามเหงาแล้ว คุณปิ่นฯ ยังได้แนะนำเพื่อนบ้านเพื่อน blog ทั้งหลายให้รู้จัก รวมทั้งเพื่อนรุ่นน้องสมัยนักเรียนที่ห่างเหินจากกันไปนาน ดูเหมือนว่าชุมชมแห่งนี้ที่มีคุณปิ่นฯ เป็นศูนย์กลางมีท่าทีว่าจะขยายวงไพบูลย์แผ่กว้างออกไปอย่างไม่รู้จบ

หากโลกแห่ง blogger เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ในอุดมคติ บุคลิกลักษณะของคุณปิ่นฯ น่าจะใกล้เคียงกับ "ผู้ใหญ่บ้าน" ที่คอยประสานประโยชน์ โอภาปราศรัยให้ลูกบ้านรู้เรื่องราวน่าสนใจ อีกแนะนำให้สมาชิกรู้จักมักจี่มากที่สุด

ผู้ใหญ่บ้านคนนี้ไม่น่ากลัวและลึกลับซับซ้อน ข้อเขียนทั้งหลายจาก blog ของคุณปิ่นฯ แสดงออกซึ่งตัวตนที่แท้ของเขาออกมาอย่างโปร่งใสและจริงใจ

ความเป็นคุณปิ่นฯ นั่นคือคนหนุ่มที่ยึดมั่นในอุดมคติ มีระเบียบวิธีคิดเป็นระบบ และมีเป้าหมายของชีวิตชัดเจนเช่นนี้ เป็นตัวอย่างอันดีเลิศแก่คนรุ่นเดียวกันและคนรุ่นหลังเป็นอย่างดี

โลกไซเบอร์สเปซเป็นโลกมหัศจรรย์ เพราะทำให้รู้จักกับหลายคนหลายความคิดหลายความเชื่อที่แต่ละคนมีความเป็นหนึ่งในตัวเอง ดังเช่นคุณปิ่น ปรเมศวร์นี่ล่ะ

จาก ปริเยศ

ถ้าไม่ใช่เพราะเทคโนโลยีทางการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ท ผมคงไม่มีโอกาสได้ สังสรรค์ทางปัญญา กับ ปกป้อง จันวิทย์ หรือ ปิ่น ปรเมศวร์ (ปกป้อง ภาค blogger) นักวิชาการหนุ่มผู้ปราดเปรื่องในสาขาเศรษฐศาสตร์ได้ เพราะปิ่น ปรเมศวร์ในช่วงเวลาที่สังสรรค์ทางปัญญากับผมและมิตรสหายชาว blog ปิ่นพำนักอยู่ ณ บ้านนอกสถาน คือสหรัฐอเมริกา ในขณะที่ผมพักอาศัยที่ปากเกร็ด ประเทศไทย ห่างกันคนละทวีป คนละช่วงเวลา คนละสภาพอากาศ และคนละสถานภาพทางสังคม

ปิ่นอยู่ในฐานะนักวิชาการหนุ่ม ว่าที่ดร.ทางเศรษฐศาสตร์ ผู้มีผลงานวิชาการเลื่องชื่อตั้งแต่วัยเยาว์ ส่วนผม ตำแหน่งพนักงานธรรมดาประจำองค์กรธุรกิจแห่งหนึ่ง ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องอะไรกับโลกที่เขาเรียกกันว่าหอคอยงาช้าง แม้แต่สักส่วนเสี้ยวเดียว แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของการสังสรรค์ทางปัญญากับปิ่นและมิตรสหายท่านอื่นๆ

ผมเลือกใช้คำว่า สังสรรค์ทางปัญญา เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ พวกเราถกกันด้วยการอ่านความคิดที่แตกต่างของ blog แต่ละฝ่ายด้วยความสนุกสนาน ไม่มีการโกรธขึ้งบึ้งตึง ยามอีกฝ่ายวิพากษ์ความคิดอีกฝ่ายด้วยความรุนแรง โดยเฉพาะคำวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากผม “ปริเยศ” ผู้ที่ไม่ต้องรอมชอม หรือรักษาหน้าตา รักษามิตรภาพทางวิชาการบนฐานความเกรงใจแบบไทยๆแต่อย่างใด

ปิ่น ปรเมศวร์ ไม่เพียงไม่โกรธ หรือไม่พอใจกับความเห็นที่ไม่ไว้หน้าใครของผม แต่กลับร่วมถกด้วยการผลิตงานเขียนคุณภาพสูง เพื่ออธิบายและหักล้างเหตุผล ผมถือว่านี่เป็นแสดงน้ำใจทางปัญญาอย่างสูงยิ่ง เพราะเป็นการให้ปัญญาแก่มิตรสหาย

ในฐานะที่ผมเป็นนักอ่านหนังสืออย่างฉกาจ งานเขียนของปกป้องเป็นงานเขียนที่ใช้องค์ความรู้หลายสาขาในการเข้าใจโลก อธิบายโลก และพยายามเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นด้วยสถานะ “นักวิชาการ”

องค์ความรู้ของปกป้องมิได้ตายตัวแบบสำนักคิดเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก ที่มองมนุษย์และสถาบันทางสังคมเพียงมิติเดียว คือมิติแห่งการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวสูงสุด ปกป้องเห็นถึงมิติของความเป็นคน ความเป็นมนุษย์ที่ไม่ใช่ธำรงด้วยเหตุผลของการเป็นสัตว์เศรษฐกิจแต่เพียงลำพัง นอกจากนั้นงานเขียนของปกป้องยังเต็มไปอุดมคติที่มุ่งหวังจะสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น ซึ่งอุดมคติประการหลัง ปกป้องได้แสดงให้เห็นอย่างโดดเด่นในช่วงรัฐบาลพรรคไทยรักไทยครองอำนาจสมัยแรกอย่างเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหวยหงส์ หรือเรื่องอื่นๆ

เมื่อปกป้องเปลี่ยนสภาพมาเป็น “ปิ่น ปรเมศวร์” ในภาค blogger งานเขียนยังคงคุณภาพและอุดมคติเช่นเดียวกับงานเขียนในภาค “ปกป้อง จันวิทย์” เพียงแต่ในงานเขียนภาค “ปิ่น ปรเมศวร์” หลายชิ้นเกิดจากการโต้กลับอย่างฉับพลันต่อประเด็นความเห็นของมิตรสหายที่ทิ้งคำวิจารณ์ใน blog ของเขา

ความสนุกสนานของการสังสรรค์ทางปัญญา อันมีปิ่นเป็นตัวเอกและตัวโหมโรง ได้ชักจูงมิตรสหาย bloggers ผู้ปราดเปรื่องในสาขาเศรษฐศาสตร์ สาขากฎหมาย ฯลฯ มาร่วมถกและสังสรรค์ร่วมกัน โดยที่หลายต่อหลายท่านไม่เคยเห็นหน้าและรู้จักกันมาก่อน

ผมคงไม่เขียนเกินเลยไปว่า หลังจากที่ “ปกป้อง” เป็น “ปิ่น ปรเมศวร์” เพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์ ชุมชน bloggers ผู้ชอบสังสรรค์ทางปัญญาในประเด็นที่เรียกว่ากิจการบ้านเมืองและความรู้อื่นๆ ขยายตัวเพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยมีปิ่นเป็นจุดศูนย์กลาง เช่นเดียวกัน ในสถานะ ปกป้อง จันวิทย์อาจารย์หนุ่มแห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผมทราบว่าเขาเองเป็นจุดศูนย์กลางของนักวิชาการรุ่นใหม่ทางเศรษฐศาสตร์แห่งสำนัก ในการจุดไฟทางปัญญาและเคลื่อนไหวในประเด็นเพื่อประโยชน์ชาติบ้านเมือง และคงไม่เขียนเกินเลยเช่นกัน ว่าปิ่น ปรเมศวร์ หรือปกป้อง จันวิทย์ เป็นแรงบันดาลใจและความภูมิใจของลูกศิษย์สำนักท่าพระจันทร์ และมิตรสหายอื่นๆ ที่ได้สังสรรค์ทางปัญญาร่วมกับเขา

ไม่ว่าเขาจะอยู่ในภาคใด ... “ปิ่น ปรเมศวร์” หรือ “ปกป้อง จันวิทย์” ก็ตาม

จาก One Life

ความเป็นไปในชีวิตของคนเราย่อมแตกต่างหลากหลาย

โลกที่เราอยากให้เกิดขึ้น อยากให้มันเปลี่ยนแปลง สำหรับแต่ละคน มันก็ไม่เหมือนกันอีกนั่นแหละ

ผมเคยถามตัวเองว่า เหตุใดเราชาว bloggers จึงใช้เวลาพูดคุยกันเรื่อง ความดี ความงาม ความฝัน ถึงโลกที่ควรจะเป็นกัน แม้ว่าท้ายที่สุด เราก็ไม่พบสิ่งเหล่านั้นในชีวิตจริง

ผมตอบคำถามตัวเองด้วยรอยยิ้ม เพราะผมไม่คิดว่าโลกในอุดมคติของผม ของปิ่น ปรเมศวร์ หรือของ bloggers ท่านอื่น มันจะต้องเกิดขึ้น หรือ "มีจริง"

ผมคิดว่าความสำคัญของโลกที่เราฝันถึง ไม่ได้อยู่ที่ว่า มันมีอยู่จริงหรือไม่

แต่สำคัญที่ว่า "เราเลิกเชื่อมันแล้วหรือยัง?"

หากเรายังคงเชื่ออยู่ โลกก็สามารถมีหนทางที่ดีขึ้นกว่านี้ ก้าวเดินไปข้างหน้าหาจุดหมายลางๆนั้นได้

หากสังคมใดเลิกฝันถึงสิ่งที่ดีกว่าแล้ว สังคมนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับก้อนหินก้อนหนึ่ง ที่แข็งกระด้างไร้ชีวิตชีวา และยอมรับชะตากรรมอย่างง่ายดาย

ผมจึงหัวใจพองโตเสมอที่ได้อ่าน blog ของเพื่อนพ้องน้องพี่ที่วาดลวดลายกันอย่างขะมักเขม้นถึงเรื่องราวต่างๆที่งดงามตามแบบฉบับของแต่ละคน

โดยเฉพาะเพื่อนของผมคนนี้ ... ปิ่น ปรเมศวร์

...เรากำลังเชื่อในโลกที่ดีกว่านี้กันใช่ไหมครับ...

จาก สีฝุ่น

ผมรู้จักพี่ป้องมาตั้งแต่ ม.1 ตอนผมยังออกเสียง ร.เรือ ล.ลิง ไม่ชัด เราเป็นพิธีกรรายการ “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” ด้วยกัน

ความประทับใจแรกต่อพี่ป้องตอนนั้น ไม่มีความคิดอื่นอีกนอกจาก “โห…พี่คนนี้เด็กเรียนสุดๆว่ะ” “ออกเสียง ร.เรือชัดมาก เรายังทำไม่ได้เลย หูย……”

หายกันไปสามสี่ปี ได้เจอกันโดยบังเอิญสัปดาห์ละครั้ง เนื่องจากเรียน รด. ที่เดียวกัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดความฝันกันพอสมควร พี่ป้องบอกเสมอว่ารักงานสอน และรักงานเขียน

ความประทับใจที่สองหลังจากได้เจอกันรอบใหม่ นอกจากหน้าผากที่กว้างขึ้นรองรับความรู้ และท้องที่ใหญ่ขึ้นรองรับความหิวแล้ว ผมยังได้รู้จักพี่อายุ 17-18 คนหนึ่งที่มีอุดมการณ์มั่นคง

ผมเชื่อเสมอว่าไม่มีอะไรตื่นเต้นและมีความสุขไปกว่าการรู้ว่าเรารักอะไร และกำลังทำสิ่งนั้นด้วยความสามารถอันเต็มที่ของเรา พี่ป้องแบบอย่างที่ดีของคนที่กำลังเดินตามทางความฝันของตัวเองด้วยความสุข ด้วยความรัก และความมั่นคง

เคยนึกเสียดายแทนคนอื่นๆว่า หน้าที่การงานและความรู้ที่พี่ป้องได้ร่ำเรียนมากลายเป็นข้อจำกัดให้สิ่งที่พี่ป้องนำเสนอโดยมากจะเป็นไปในเชิงวิชาการและการเมือง ซึ่งสิ่งที่คนอื่นได้เห็นและได้อ่านที่ผ่านมาเป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของสมอง ความคิด และจิตนาการที่ไม่มีขอบเขตของพี่ป้องเท่านั้น

ผมเลยรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีการรวบรวมความคิดหลากหลายแง่มุมของพี่ป้อง ที่ได้เขียนไว้ใน blog ส่วนตัวเป็นรูปเล่ม อยากให้คนอื่นๆเห็นพี่เขาในมุมที่ผมได้เห็น หวังเป็นอย่างยิ่งว่านี่จะเป็นเพียงแค่หนึ่งในหนังสืออีกหลายเล่มที่กำลังจะตามมา

ยังรออ่านงานของพี่เสมอครับ