จาก B.F. Pinkerton
สิ่งที่เรียกว่าบล็อก (Blog) ย่อมาจากคำว่า เวปลอก (Web Log) ซึ่งแปลได้ว่าการบันทึกสิ่งต่าง ๆ ลงบนเวป ในเรื่องใด ๆ ก็ตามที่ผู้เขียนหรือที่มีศัพท์เฉพาะว่าบล็อกเกอร์ (Blogger) สนใจ และสามารถกำเนิดเป็นชุมชนเล็ก ๆ ของผู้ที่มีความสนใจร่วมกัน มีการขีดเขียนแลกเปลี่ยนความเห็น blog กลายเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจล่าสุดในโลกอินเทอร์เน็ต ชนิดที่ว่าในรายการข่าว CNN หรือหนังสือพิมพ์รายวันจะมีช่วงเวลาหรือคอลัมน์แนะนำ blog ที่น่าสนใจทุกวัน
ในปัจจุบันชุมชนของ bloggers มีมากมายมหาศาล แทบจะในทุกเรื่องที่มนุษย์สามารถจินตนาการได้ bloggers มีตั้งแต่ระดับคนธรรมดาสามัญผู้รักการขีดเขียน อาจจะมีคนอ่านแค่ตนเองกับเพื่อนสนิทไม่กี่คน ไปจนถึงผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งในวงการวิชาการระดับศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยค่าตัวแสนแพง โปรเฟสเซอร์ผู้พิชิตรางวัลโนเบล CEO ของบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ แม้กระทั่งบุคคลในแวดวงบันเทิงฮอลลีวู้ดก็ยังทยอยกันมี blog ของตัวเองกันมากขึ้น bloggers เหล่านี้ หลายคนเป็นนักเขียน คอลัมนิสต์มือทองระดับเขียนประจำในหนังสือพิมพ์อย่าง New York Times หรือ Business Week หรือเป็นคนผลิตตำราเรียนระดับ Best Seller ซึ่งการเขียนแต่ละบรรทัดของเขา สามารถสร้างรายได้อย่างงาม
แต่พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้มีเงินทองอะไรจากการเขียน blog มันเป็นแค่เป็นความสุขใจและสะใจอย่างหนึ่ง กับการสามารถติดต่อสื่อสาร เผยแพร่ความคิดของตนเอง ออกไปสู่โลกภายนอกได้อย่างรวดเร็วทันใจ พร้อมกับการได้อ่านข้อความที่มีคนแสดงความเห็นเข้ามา สำหรับสังคมออนไลน์ในประเทศที่ระบบอินเทอร์เน็ตโครงข่ายพื้นฐานแข็งแรง มีจำนวนคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตต่อครัวเรือนสูง จำนวนของผู้อ่านต่อวันอาจจะสูงเป็นหลาย ๆ พันครั้ง
การได้เขียนหรืออ่านเรื่องราวต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวชีวิตส่วนตัว ความคิดเห็น ทัศนคติ บันทึกเหตุการณ์ที่ในชีวิต เหล่านี้ ในแง่มุมอิสระ จริงใจ ปราศจากการคัดสรรหรือเซนเซอร์จากบรรณาธิการหรือกฎเกณฑ์ใด ๆ อาจจะนับได้ว่าเป็นความสุขอย่างหนึ่ง…
เมื่อผมได้ทราบว่า คุณ ปิ่น ปรเมศวร์ อาจารย์หนุ่มนักเรียนนอกอนาคตไกล นักเขียนผู้มีความสามารถสูง ได้ริเริ่มการเขียน blog ของตัวเองขึ้นมา ผมก็รู้ว่าจะมีสิ่งดี ๆ สนุก ๆ เกิดขึ้นในโลกแห่งวรรณกรรมออนไลน์ของไทยอีกครั้ง เพราะตัวคุณปิ่นเองก็เป็นผู้มีประสบการณ์ในด้านงานเขียนมาอย่างช่ำชอง เคยมีทั้งผลงานเขียนของตัวเองและงานบรรณาธิการทำให้หนังสือขึ้นอันดับเป็นหนังสือขายดีหลายเล่ม และก็สมกับที่คาดการณ์เอาไว้ blog ของเขาเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าติดตาม พร้อมด้วยสาระมากมาย ที่สำคัญคือด้วยสายสัมพันธ์กับชุมชนวิชาการและปัญญาชนไทยรุ่นใหม่ของเจ้าของ blog ปิ่น ปรเมศวร์ได้สร้างชุมชนน้อย ๆ ของนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการรุ่นกระเตาะ ไปจนถึงรุ่นกลาง ตลอดทั้ง bloggers อื่น ๆ ที่มีข้อเขียนสนุก ๆ เท่ ๆ หลายท่าน หลายคนเขียนได้เก่งอย่างคิดไม่ถึงเลยทีเดียว
เมื่อคุณปิ่น ได้เปรย ๆ กับผมว่าสนใจจะตีพิมพ์ blog ต่าง ๆ เหล่านั้น ในรูปแบบหนังสือ ผมยอมรับว่ายังไม่ค่อยแน่ใจว่ามันจะน่าสนใจหรือเป็นการผิดที่ผิดทางหรือไม่ เพราะวรรณกรรมแบบออนไลน์ กับวรรณกรรมกระดาษ ยังมีความแตกต่างกันในหลายด้าน ข้อเขียนที่อ่านสนุกในรูปแบบออนไลน์ อาจจะเป็นรูปแบบที่ไม่ลงตัวหากนำมาตีพิมพ์เป็นหนังสือ แต่ด้วยความสามารถในการเป็นบรรณาธิการให้กับตัวเอง คุณปิ่น ปรเมศวร์ สามารถแปลงโฉมให้ blog ของเขากลายร่างมาเป็นหนังสือได้อย่างน่าอ่าน เหมาะสม และเป็นวรรณกรรมที่มีประโยชน์ อ่านสนุก
หนังสือเล่มนี้เป็นเหมือนการเปิดโอกาสให้ผู้อ่านในวงกว้างได้สัมผัสกับงานเขียนดี ๆ มีสาระบันเทิง จากหลายแง่มุม ทั้งในมุมของอาจารย์หนุ่ม นักศึกษาปริญญาเอก นักเศรษฐศาสตร์สำนักกระแสรอง ความยากลำบากและการต้องปรับตัวของชีวิตในต่างแดน การทำวิทยานิพนธ์ การเดินทาง แนวคิดเกี่ยวกับสังคมไทย และเรื่องอื่น ๆ
วรรณกรรมในรูปแบบมาตรฐานเช่นหนังสือทำให้ผู้อ่านโดยทั่วไปสามารถเข้าถึงและรับรู้สาระความสนุกได้ในวงกว้างขึ้น นอกเหนือจากกลุ่มนักอ่าน bloggers หรือผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ตติดตามอ่านอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งยังจำกัดอยู่ในวงที่ไม่ใหญ่มากนักสำหรับเมืองไทย เป็นการน่าเสียดายถ้าหากสังคมนักอ่านหนังสือของเมืองไทยจะต้องพลาดงานเขียน แบบออนไลน์ ดี ๆ แต่ ณ บัดนี้ทุกสิ่งที่ได้บันทึกไว้ สามารถหาอ่านได้ในหนังสือเล่มนี้แล้ว
ผมขอเชิญท่านผู้อ่านลองพลิก ๆ หนังสือเล่มนี้ดูก่อนจะซื้อครับ แล้วจะรู้ว่าที่ผมเขียนบรรยายมาข้างต้นนั้น มันไม่ได้เกินความจริงแต่อย่างใด
0 Comments:
Post a Comment
<< Home